ปิด จันทร์ - อังคาร

จดหมายจากเบรุต+เบรุตไม่มีอีกแล้ว

JCL_WEBbanner_TH

 


—ครบรอบ 1 ปีการจากไปของผู้กำกับ โจเซลีน  ซาบ—

 

 

นักทำหนังในโฟกัส:

โจเซลีน ซาบ

พยานสงครามกลางเมือง

 

 

ด้วยภาพตรึงตาผ่านสายตาของกวี  ปรมาจารย์แห่งการเทียบเคียงอันแปลกประหลาดจากสิ่งที่พานพบ  ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเลบานอน  โจเซลีน  ซาบ  ทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์อันเหลือเชื่อ

การปฏิบัติธรรมทางความทรงจำของโจเซลีน  เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของอารยธรรมมนุษย์  กลางซากหักพังแห่งสงครามกลางเมืองเบรุต  บ้านเกิดของเธอ  เราค้นพบชะตากรรมที่เป็นไปได้ของแผ่นดินเราเอง

(ต้องดูบนจอใหญ่กับเสียงดี  ถึงแม้จะไม่มีซับไทยก็ตามได้ไม่ยาก  เพราะสาระสำคัญคือความรู้สึก ไม่ใช่ข้อมูล)

 

 

…………………………………………

Letter

 

 

จดหมายจากเบรุต

เลบานอน / 1978 / 48 นาที

ภาษา: อังกฤษ, อารบิค และ ฝรั่งเศส / คำบรรยายอังกฤษ

(ฉายควบกับ เบรุต..ไม่มีอีกแล้ว’)

 

นักทำหนังจากเลบานอน  โจเซลีน ซาบ  ร่างเล็กและเยาว์วัย  คือภาพแห่งวิญญาณงดงามในเพิงกาแฟลมโกรกริมทะเล  ขณะที่เธอนั่งเขียนจดหมายจากนครเบรุตให้โลกภายนอกรับรู้

ด้วยสถานการณ์เหนือจริงและภาพเหมือนฝัน  ที่เติมลึกแก่ความรู้สึกเหลือเชื่อในความเป็นจริงท่ามกลางการรุกรานโดยนักล่าอาณานิคม  และสงครามกลางเมืองในบ้านเกิดของตนเอง  โจเซลีนพาเราท่องไปกลางซากปรักหักพังกระสุนพรุน,  การเผชิญหน้ากับรถถังอิสราเอล  และด่านตรวจนานาชาติที่ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ประหลาดหลากองค์กร  ทะลุผ่านกระจกเงาเข้าไปในสวนส้มวันแดดใส  ขณะที่ประธานองค์กรกู้ชาติปาเลสไตน์  ยาสเซอร์  อารฟัด ในวัยหนุ่ม—ซึ่งชวนให้นึกถึงสหายเช กูวาร่า  มากกว่าชายอ้วนแก่ที่เราคุ้นตา—จัดเลี้ยงปิกนิกสำหรับนักต่อสู้รุ่นใหม่ในพิธีการสาบานตนต่อการปฏิวัติ  โจเซลีนได้กลับมาสู่ประเทศและมหานครที่ไม่เหลืออะไรที่เธอคุ้นเคยและจดจำได้อีกต่อไป

 

ผู้กำกับ : โจเซลีน ซาบ

กำกับภาพ : โอลิวิเอร์ เกอโน

ตัดต่อ : ฟิลลีป ก็อสเลต์

ออกแบบเสียง : พอล แบร์ทอลท์

เพลง : อูม คุลธุมมาร์เซล คาลีฟ

& คำคมจากหนังสือของ เอเทล อัดนัน

 

………………………………………..

BeirutNeverMore

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เบรุต..ไม่มีอีกแล้ว
เลบานอน / 2519 / 34 นาที
ภาษา: อังกฤษ, อารบิค และ ฝรั่งเศส / คำบรรยายอังกฤษ

(ฉายควบกับ จดหมายจากเบรุต’)

 

“นักเดินทาง 1 ใน 2 คนในโลกเคยเยือนเบรุต  แต่เมืองนี้ไม่มีตัวตนเสียแล้ว”  ผู้กำกับ โจเซลีน ซาบ บอกเราพลางเบิกม่านด้วยภาพชายหนุ่มที่นอนอยู่บนโซฟาริมถนน  และนักรบติดอาวุธบึ่งรถจี๊บผ่านมา  ชาวนครเบรุตพยายามใช้ชีวิตประจำวัน:  ชายคนหนึ่งเดินตามถนนกับถ้วยกาแฟและบุหรี่ยามเช้าของเขาอย่างระมัดระวังการถูกจู่โจม;  อีกคนหนึ่งผ่านไปพร้อมกับปัจจัยสำคัญของชีวิต: ตะเกียงเจ้าพายุ, อาวุธปืนและมะเขือเทศสุกแดงที่ควานหามาได้จากไหนสักแห่ง;  ทุกคนต่างยังชีวิตอยู่ราวกับแมวข้างถนนที่หากินกลางซากหักพังนั้น  หน้าตึกรมควันไฟของธนาคารบริทิชแห่งตะวันออกกลาง  ดูละม้ายโรงเผาศพล้างเผ่าพันธุ์  ยังคงตั้งตะคุ่มอยู่เหนือบรรดาแก๊งเด็กข้างถนนเจ้าปัญญา  เด็กที่ไร้ความกลัว  เกิดกลางสงครามและปลอดความทรงจำของชีวิตปกติธรรมดา

ด้วยแรงอาฆาตของความเจ็บปวดที่ต้องการหยิบยื่นให้ศัตรูและการระบายความโกรธแค้น  วัตถุไร้ชีวิตกลายเป็นที่สิงสู่ของชีวิตอันน่าหวาดผวา   ซีเควนซ์หุ่นโชว์เสื้อผ้าที่ถูกกระทำชำเราของโจเซลีน ซาบ นั้นน่าอัศจรรย์  เริ่มด้วยภาพเศษหักพังของสิ่งอำนวยความสะดวกของชีวิตสมัยใหม่:  ทีวีที่จอแตกร้าว, โทรศัพท์ที่หักพังราวกับว่าถูกโยนออกมาบนถนนอย่างแรงด้วยความโกรธสุดขีด,  เครื่องพิมพ์ดีดที่ตายแล้ว; แผ่นเสียงละลาย  จากนั้นจึงเป็นขบวนพาเหรดแห่งภาพหุ่นโชว์เสื้อแขนขาดขาขาดในอิริยาบถและบริบทต่างๆ ในเมืองที่กลายเป็นสนามรบ

 

ภาพเหล่านี้มีดนตรีที่แปลกประหลาด: นักรบติดอาวุธ 3 คน นั่งเรียงกันบนเก้าอี้บาร์แบบสูงที่โรงแรมนอร์มังดีห้าดาว (ร้าง) พลางหมุนไปมาพร้อมปืนยาวขณะที่นั่งรอเหตุชุลมุนนัดต่อไป  โรงแรมฮอลิเดย์อินน์พรุนเป็นรูจากระเบิดจรวดอาร์พีจี  ต้นตาลริมทะเลที่ไหม้เป็นแถวยาว  “ราวกับตอเสาของซากหักพังยุคโรมัน”  เก้าอี้หรูสไตล์ฝรั่งเศสกรอบทองบุด้วยไหมยกสีหยก  นั่งอยู่อย่างอดทนบนหาดทรายขณะที่คลื่นสีขาวลูกแล้วลูกเล่าซัดใส่มัน  และเด็กๆ เล่นน้ำในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เต็มไปด้วยมลพิษ เคียงข้างเท้าที่กำลังเน่าเปื่อย   ยิ่งกว่าศพทิ้งง่ายกลาดเกลื่อนเหล่านี้  คือชั้นหนังสือที่เต็มไปด้วยแฟ้มเอกสารที่ไหม้เป็นเถ้าถ่านโดยยังรักษารูปทรงสิ่งที่เคยเป็นไว้ได้   ในหอจดหมายเหตุของราชวังอดีตผู้ปกครองแผ่นดิน

 

ขณะเดียวกัน  ท่ามกลางความตาย  ความสุขและความสบายของชีวิตกลับมีรสชาติเข้มข้น:  ขนมปังอบใหม่เต็มถาดจากเตาอบกลางของชุมชน,  แก๊งเด็กที่ขูดช้อนควานหาทุกหยดสุดท้ายของน้ำแกงในจานกลาง  ราวหมู่ลูกหมารอบชามนม  เหล่าทหารเด็กกับระเบิดน้อยหน่าและสำรับไพ่ของเขา  สิ่งของเป็นที่ทะนุถนอม:  ชายคนหนึ่งวิ่งหอบพรมม้วนใหญ่พร้อมโต๊ะบนหัวเขา  ขณะที่เสียงปืนลั่นอยู่;  ระเบิดกำลังตกอยู่ไม่ไกลจากเด็กชายที่กำลังเข็นโต๊ะเสิร์ฟอาหารติดล้อมา  ความสวยงามและความไร้อารมณ์ที่ไม่จำเป็นต้องมีของเด็กสงครามเหล่านี้สิงสู่ความทรงจำของเรา  ขณะที่เขาลุกขึ้นมาทำหน้าที่ในบทบาทของผู้ใหญ่ที่ตายจากไป;  พวกเขาเป็นทหาร  เป็นขโมยจากบ้านร้าง  เป็นยามดูแลความปลอดภัย  เป็นพยาบาลดูแลผู้ใหญ่  เป็นคนเก็บขยะ  หนังทิ้งภาพสุดท้ายไว้ให้เรา:  ชายคนหนึ่งหลบแดดอยู่ใต้ร่มคันเล็กๆ  ข้าวของทุกอย่างของเขาวางกองอยู่รายรอบบนทางเท้าริมถนน  (ต้องดูบนจอใหญ่กับเสียงดี  โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจคำบรรยายภาษาอังกฤษ)

 

ผู้กำกับ : โจเซลีน ซาบ

คำคมจากหนังสือของ เอเทล อัดนัน

 

 


 

 

โจเซลีน ซาบ

 

เกิดที่เบรุต เลบานอน ค.ศ. 1948  เธอเริ่มมีชื่อเสียงจาก ‘Lebanon in Turmoil’ (เลบานอนอลหม่าน, ค.ศ.1975)  สารคดียาวเรื่องแรกของเธอ  หลังจากนั้นเธอมีผลงานหลายเรื่องเกี่ยวกับอิหร่าน, แนวรบโพลิซาริโอในทะเลทรายซาฮาร่าตะวันตก และเวียดนาม  ช่วงที่เธอให้กำเนิดภาพยนตร์ไตรภาคเบรุต  เธอเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ฟอล์เคอร์  เชลินดอร์ฟ  ช่วงที่เขาถ่ายทำ ‘Circle of Deceit’ (ค.ศ.1981)  ผลงานชิ้นสำคัญของโจเซลีนอื่นๆ รวมถึง ภาพยนตร์เรื่องแต่งเรื่องแรกของเธอ ‘Suspended Life’ (ค.ศ.1985) และ Once Upon a Time in Beirut (กาลครั้งหนึ่ง ณ เบรุต)  ซึ่งเฉลิมฉลองวาระครบหนึ่งศตวรรษของภาพยนตร์ และการก่อตั้งซิเนมาเธ็คแห่งเลบานอน ; และ ‘Dunia’ (ค.ศ.2005) นอกจากนั้น  เธอเป็นศิลปินภาพถ่ายที่มีผลงานโฟโต้อินสตอเลชั่นแสดงทั่วโลก  รวมทั้งภาพยนตร์ศิลปะ ‘What’s going on’ (ค.ศ.2010)

 

โจเซลีนเป็นผู้ก่อตั้งองค์กร Cultural Resistance (กองโจรต่อต้านการครอบงำทางวัฒนธรรม) และในปี ค.ศ.2013  เธอจัดทำและเป็นภัณฑารักษ์เทศกาลภาพยนตร์แห่งทริพโพลิ  ซึ่งเป็นเทศกาลหนังแรกในเลบานอน ที่แสดงภาพยนตร์จากเอเซียและภูมิภาคแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน

วัน เวลา
Thu 9 Jan17:00