ปิด จันทร์ - อังคาร

‘คิดถึงบ้านที่กลับไม่ได้’ – กรีน เซง

Print

 

ซิเนม่าโอเอซิส และแกลเลอรี่ โอเอซิส

ภูมิใจเสนอ

‘คิดถึงบ้านที่กลับไม่ได้’

ภาพยนตร์และภาพถ่ายโดย

กรีน เซง

 

4 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2562

 

เมื่อเทียบกับมหากาพย์นวนิยายขอบเหวนรกของการเมืองไทย  สิงคโปร์ดูเชื่องไร้พิษภัย  แต่คุณอาจแปลกใจ  จริงอยู่ที่เขามีพื้นที่เว่อร์ทางอารมณ์น้อยกว่าเรา  แต่การขยับเคลื่อนของเปลือกโลกและผืนแผ่นดินที่นั่นก็ชวนหวาดหวั่นและน่าเกรงขามไม่แพ้เรา

ภาพของศิลปิน กรีน เซง ปริ่มด้วยความอาวรณ์ – โรคเรื้อรังที่ค่อยๆกัดกินบ่อนทำลายจากภายใน  นั่นคือความคิดถึงบ้านที่กลับไปไม่ได้  เพราะว่ามันหายวับไปแล้ว

มูลนิธิซิเนม่าโอเอซิสยินดีและภูมิใจเสนอผลงานของศิลปินหลายแขนงคนนี้จากสิงคโปร์  ด้วยโปรแกรมฉายภาพยนตร์ ‘กลับบ้าน’ ที่ซิเนม่าโอเอซิส

และที่แกลเลอรี่โอเอซิส  นิทรรศการภาพถ่าย ‘ผู้ถูกเนรเทศกลับเข้ากรุง’ และวิดีโอจัดวางชุด ‘การจำลองเหตุการณ์ของนักศึกษา’ ซึ่งนำคำสารภาพของนักโทษทางการเมือง  ที่ถูกบังคับให้กล่าวหาตนเองออกทีวีมาแสดงใหม่เป็นวิดีโอจัดวาง

 

ภัณฑารักษ์มานิต ศรีวานิชภูมิ:  “กรีน เซง เข้าใจที่สร้างชายชราผมขาว ดูหงอยเหงา ขึ้นมาเป็นตัวละครแทนกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลง  การถ่ายรูปก็จงใจให้เหมือนโปสการ์ดสถานที่ท่องเที่ยว  โดยที่ชายแก่นั้นตัวนิดเดียว  ถ้าไม่สังเกตก็อาจไม่เห็นแกเลย  หลงหายท่ามกลางประวัติศาสตร์ที่ถูกปั้นแต่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว  ความหมายของสถานที่เหล่านี้จึงมีสองระดับ  มีสองโลกในที่เดียวกัน  อาจเป็นความตั้งใจของศิลปินที่จะบอกว่า  สิงคโปร์เลือกนำเสนอประวัติศาสตร์เฉพาะบางด้าน  เพื่อเสนอภาพประวัติศาสตร์ที่ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยและสงบเท่านั้น  ไม่มีความวุ่นวายเหมือนประเทศอื่น”

 

เกี่ยวกับศิลปิน : กรีน เซง  https://greenzeng.wordpress.com/about/


 

‘กลับบ้าน’

83 นาที, สิงคโปร์, 2558, ภาษาจีนแมนดาริน อังกฤษ และมาเลย์
บรรยายภาษาอังกฤษ

 

ทะเลคือขุมทรัพย์ของสิงคโปร์  และมันเป็นภาพแรกของหนัง ‘กลับบ้าน’ ของกรีน  เซง  ในความมืดเราเห็นระลอกน้ำย้อมสีไฟนีออน : เริ่มจากน้ำเงินเปลี่ยนเป็นเขียว  เป็นสีทองและดำลายแดง  ทะเลที่สะท้อนความรุ่งเรืองและการกลายพันธุ์ของสิงคโปร์มาสู่ความโชติช่วงวิจิตรพิศดารในปัจจุบัน

ลี ซุน เวน  ชายหนุ่มที่นั่งเขียนหนังสืออยู่ที่โต๊ะ  ถูกจับข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคงภายใน  พาให้เมียสาวหน้าใสพอกันถูกทิ้งไว้สู้ชีวิตตามลำพัง  ในช็อตเดิม ในทางเดินเดิม ในตึกแฟลตรัฐบาล  ซึ่งยังคงทาสีขาวสะอาดไม่เปลี่ยนแปลง  ชายสูงวัยเดินเข้ามาเคาะที่ประตูบานเดิม – พ่อวัยหนุ่มคนนั้นหวนคืนกลับบ้านจากคุก  โดยมีลูกสาววัยกลางคนเป็นผู้เปิดประตูต้อนรับ  เธอแก่กว่าแม่ตอนพลัดพรากจากพ่อ – แก่กว่าแม่ที่ไม่มีวันแก่  เพราะจากไปแล้ว

เหมือนคนจมน้ำ  ความทรงจำที่เขาไม่เคยมี  ถาโถมท่วมท้น : ความทรงจำหลายสิบปีในแฟลตนั้นที่เขาไม่มีส่วนร่วมทุกข์สุข ; เมียที่เจ็บป่วยและตายไปโดยที่เขาไม่ได้ดูแลและบอกลา  และทั้งหมดนี้เพราะว่าเขาดื้อดัน  ไม่ยอมเซ็นรับรองคำสารภาพที่เป็นความเท็จ

การออกแบบเสียงของหนังละเอียดอ่อนไม่ธรรมดา  มันคือภูมิเสียงแห่งภูมิทัศน์มนุษย์ประดิษฐ์ของสิงคโปร์  โน้ตหลักของมันคือเสียงฮัมคล้ายฝูงผึ้งเหล็กจากรถที่แล่นผ่านบนทางด่วนที่ตัดข้ามไปมาทั่วเกาะ  ไม่ใช่ความจ้อกแจ้กจอแจของจราจรและมนุษย์ (และสัตว์)  ที่กำลังต่อรองสื่อสารกันตามถนนกรุงเทพหรือมุมไบ  หรือผสานด้วยเสียงแหลมของหวอไซเรนอย่างนิวยอร์ค  แต่เป็นเสียงฮัมกึ่งครางอันคงที่ไม่มีลดละของรถที่รีบเร่งผ่านไป  รีบผ่านไปโดยไร้การสุงสิงจอดแวะข้างทาง  ลุงลีนั่งคนเดียวที่โต๊ะกินข้าวเล็กๆ ของเขา  หันหลังให้หน้าต่างที่เปิดเห็นวิวท้องฟ้าค่ำคืน  และหอคอยแฟลตการเคหะอื่นๆ ที่ดูเหมือนกันหมด  นั่งกินข้าวที่กลืนไม่ลง  ความปลอดเชื้อปลอดวิญญาณของสิงคโปร์ยุคใหม่ถูกสะกดไว้ได้อย่างเจ็บลึกในฉากไร้คำพูด  การจัดภาพลักษณะนี้ปรากฎขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าราวลูกประคำตลอดเรื่อง  และสิ่งที่หนีไม่เคยพ้นคือเสียงฮัมของทางด่วน

มีปมเรื่องการคืนดีกับลูกชายเคร่งคริสเตียนผู้ขมขื่น  แต่สิ่งที่สิงสู่จิตใจเราจากหนังเรื่องนี้คือภูมิทัศน์แห่งจิตวิญญาณของสิงคโปร์  เช่นในฉากดังกล่าว : ราวกับนักท่องเวลาข้ามภพ  เขาจ้องมองเรือวิมานลอยยักษ์แห่งมารีน่าเบย์  และสวนสนุกแฟนตาซีทั้งยวงที่งอกเงยขึ้นระหว่างที่ชีวิตของเขาถูกขโมยไป ; ทางด่วนลอดใต้ดินที่มาแทนที่หอสมุดแห่งชาติดั้งเดิม ; มาเลเซียอีกฟากฝั่ง  “แสนใกล้แต่แสนไกล” ; โรงเรียนเก่าของเขากกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจีนบาบ๋า ; ประตูมหาวิทยาลัยจาก ค.ศ. 1955  “โดดเดี่ยวและแปลกแยก”  ซึ่งถูกตัดขาดจากตัวมหาวิทยาลัยโดยทางด่วนอีกเส้นหนึ่ง ; ป้ายที่คอยเตือนว่า  “ที่ดินของรัฐ ใครเข้ามาถือว่ารับผิดชอบในความเสี่ยงด้วยตนเอง”

ขณะที่ทัวร์ไกด์สวนพฤกษชาติพาเดินดู  “ป่าดั้งเดิมผืนสุดท้ายของสิงคโปร์ที่เหลืออยู่ 2 ตารางก.ม.”  และทุกคนรีบตามไปดูต้นไม้เก่าแก่ที่สุดบนเกาะ  เขายืนนิ่งหลับตา  จำนนต่อความสงบอันลึกล้ำแห่งเศษส่วนสุดท้ายของวิญญาณแผ่นดิน  และพยายามทำใจกับการตัดสินใจที่เป็นการตัดสินชะตากรรมของครอบครัว  โดยให้ความสำคัญกับแผ่นดินเหนือชีวิตความสุขส่วนตัว

ภูมิทัศน์จิตภาพสุดท้ายน่าจะรุนแรงที่สุด  เขากลับมาเดินเล่นในจุดโปรด  ริมทะเลตรงข้ามฝั่งแผ่นดินใหญ่มาเลเซีย  เขายืนดูอาทิตย์ตก  ข้างรางเหล็กกันตกที่กั้นตลอดทางเลียบฝั่ง  ราวกับซี่กรงขัง  เขาเข้าใจแล้วว่าสิงคโปร์ทั้งเกาะเป็นคุก  ลุงลีเดินจากไปพ้นเฟรม  ทิ้งไว้เพียงลูกกรงเหล็ก  ในภาพสุดท้ายที่ดำมืดจบลง

มีฉากเด็ดที่ลุงลีเห็นข่าวจราจล “ที่หาสาเหตุไม่ได้” ในย่านชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดีย  บนจอทีวีร้านของชำ  ม็อบสี่ร้อยกว่าคนพลิกคว่ำรถ “เหมือนฉากจากหนัง” ทีวีบอกเรา  และต่อท้ายว่า  “สุดสัปดาห์นี้ ทางรัฐบาลได้ประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”  เช่นเดียวกับเรา  ลุงลีสบถพึมพำและรีบเดินหนีไป  ด้วยอาการแพ้ความดัดจริตไร้เหตุผลเชื่อมโยงอันแท้จริง

แม้กระนั้นก็ตาม  “ที่นี่คือบ้านเกิดของฉัน” ลุงบอกลูกสาวอย่างเด็ดเดี่ยว  พ่อย้ายไปอยู่ลอนดอนกับเธอและหลานไม่ได้  เขานั่งมองพาสปอร์ทสิงคโปร์เล่มใหม่เอี่ยมที่ลูกสาวจัดการทำมาให้  แต่แม้แต่การเนรเทศภายในและความแปลกแยก  ก็ยังทนได้มากกว่าการทอดทิ้งแผ่นดินเกิด  “ฉันไปไม่ได้”  นั้นต่างอย่างสิ้นเชิงจาก “ฉันจะไม่ไป”  อีกครั้งที่เขาเลือกบ้านเมืองเหนือครอบครัว  แต่ผู้มีอุดมการณ์ทั้งหลายทุกคน  ที่อกหักแต่รักษาไม่ได้แพราะไม่เข็ด  ย่อมเห็นด้วยกับลุงลีว่ามันไม่ใช่เรื่องของการเลือกและการตัดสินใจ  (อลิศกินเห็ด)