ปิด จันทร์ - อังคาร

ฝนเลือดอาบผีมีบุญ

ฝนเลือดอาบผีมีบุญ

ทั้งสนุกเป็นบ้าทั้งซีเรียสอย่างผิดคาดมหัศจรรย์หนังพี้ที่ 3 ที่ซิเนม่าโอเอซิส 

ขอขอบคุณทุกคนที่ช่วยกันสร้างประสบการณ์แสนสุขนี้ขึ้นมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  บรรดานักทำหนังที่ส่งผลงานแห่งความรักของเขามาให้เราตื่นตา  ตื่นใจ  และฟื้นใจ

ความอึมครึมของยุคสมัยนาทีประวัติศาสตร์นี้  ดูเหมือนสะท้อนอยู่ในภาพยนตร์ที่ชนะรางวัล: ‘ฝนเลือด’ (กัญชาทองคำ), ‘ผีมีบุญ’ (เบบี้กัญชาทองคำ), ‘หัวในหมู่เมฆ’ (ขวัญใจคนดู) และ ‘สงัด’ (หนังที่จำเป็นต้องมีอยู่ในโลก)

น่าประหลาดใจที่ค้นพบว่า 3 ใน 4 นี้เป็นผลงานของผู้กำกับไทย  ส่วนผู้ร่วมกำกับชาวเยอรมันของหนังเยอรมัน ‘หัวในหมู่เมฆ’ นั้น เป็นผู้อาศัยอยู่ในเมืองไทย  โอ พระศิวะ คุรุเทพแห่งกัญชา หรือว่าเทศกาลหนังพี้ของเราถูกผีปีศาจแห่งชาตินิยมเข้าสิง?  ไม่น่าเป็นไปได้  ในเมื่อได้มีการทำพิธีคุ้มครองจากไสยศาสตร์มนต์ดำทั้งปวง  โดยแม่มดหมอผีชั้นเลิศในละแวกบ้านนี้  ไหนยังข้อเท็จจริงที่ (มูลนิธิ) ซิเนม่าโอเอซิสนั้นสร้างขึ้นมาโดยนักทำหนังที่ถูกแบนห้ามฉาย โทษฐานทำหนังที่รัฐเห็นเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

น่าทึ่งยิ่งไปอีกเมื่อนึกกลับไปถึงปีแรกของมหัศจรรย์หนังพี้ 2562 ซึ่งแทบไม่มีหนังไทยเลย  เพราะแทบไม่มีส่งมา  น่าเหลือเชื่อที่เรามีหนังน่ารักจากซาอุดิอารเบียเกี่ยวกับคู่บ่าวสาวในห้องโรงแรม  เรามีหนังจากทั่วโลก  แต่แทบไม่มีหนังไทยเลย  ในนาทีสุดท้าย มีหนังที่เพอร์เฟ็คท์ พร้อมคุณค่าโปรดักชั่นแบบฮอลลีวู้ด โผล่มาจากนักศึกษาฟิล์มที่มหิดล ซึ่งเป็นชาวอินเดียที่เกิดในเมืองไทย  3 หมื่นบาทต่อออนซ์’ ได้รางวัลหนังพี้สั้นยอดเยี่ยม (ซึ่งเคยเรียกว่า บ้องแก้ว  แต่เพิ่งเปลี่ยนมาเป็น เบบี้กัญชาทองคำ เนื่องจากความลำบากในการขนส่งบ้องแก้วข้ามชาติ)  ส่วนกัญชาทองคำเป็นของ ‘ซูเปอร์ไซโคเซบู’ จากฟิลิปปินส์

ปีที่สองต้องเลื่อนออกไปเพราะโรงหนังปิดโควิดล็อคดาวน์  จนปี 2565 จึงจัดขึ้น  ครั้งนี้ก็มีหนังไทยน้อยเช่นกัน  อย่างไรก็ดี หนังสุดจี้เปิดเทศกาล  ดุริยางค์มรณะ’ โดยผู้กำกับอังกฤษชาวไทยได้เป็นขวัญใจคนดู  ขณะที่หนังพี้กังฟูจากบราซิล ‘เดอะสโมคมาสเตอร์’ ได้กัญชาทองคำ,  เฟซทูเฟซ’ จากคองโกได้บ้องแก้ว และรางวัลพิเศษ หนังพี้สุดช็อค เป็นของ ‘สเปซเบิร์ธ 2

เห็นชัดว่าบางสิ่งบางอย่างกำลังก่อเกิดขึ้นในเมืองไทย  เมื่อนักดนตรีคลาสสิคสร้างสรรค์ภาพยนตร์  เมื่อ ‘การ์ตูน’ แอนนิเมชั่นไปไกลกว่าแฟนตาซีแบบเด็ก, เมื่อนักทำหนังปริ่มด้วยความโหยหิวให้ความจริงได้ปรากฏบนจอภาพยนตร์ไทย, เมื่อภาพยนตร์กลายเป็นเครื่องมือวิเศษของจิตและจินตนาการของนักทำหนัง  ที่สร้างสรรค์มันขึ้นมาด้วยความรัก ด้วยฝีมือ และความเท่สุดเท่  และด้วยทรัพยากรจำกัด

จึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจเมื่อได้ยินคำปราศรัยขอบคุณของผู้ชนะ  เมื่อผู้กำกับทุกคนเล่าถึงความท้อแท้ที่เคยได้รับจากการปฏิเสธโดยเทศกาลภาพยนตร์อื่นๆ ในประเทศไทยทุกเทศกาล  แม้นในขณะที่เขากำลังได้รับรางวัลจากต่างประเทศ  เช่นในกรณี ‘สงัด’ 

ทุกคนในโรงตกใจที่ได้ยินความทุกข์ยากของเขาเหล่านี้  หลายคนถึงกับน้ำตาคลอไปด้วย  คนที่มากความสามารถเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุนและกองเชียร์  คนพวกนี้ไม่สมควรจะต้องมาทนทุกข์แบบเดียวกับที่ฉันต้องเจอ  นี่หมายความว่า 30 ปีที่ผ่านมา  ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยหรือสำหรับนักทำหนังในเมืองไทย? มันควรจะต้องดีขึ้นไม่ใช่หรือสำหรับคนถัดมา? ทำไมมันยังเหมือนเดิม?

ตลอดช่วง 4 วันของเทศกาล  มีผู้กำกับไทยรายอื่นที่เคยพบผ่านเรื่องราวลักษณะเดียวกันเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้หัวใจสลายจากการเหยียบย่ำและปฏิเสธ  หรือแม้กระทั่งการปรักปรำ  ซึ่งทำให้เราเข้าใจว่าในความเป็นจริงการแบนการเซ็นเซอร์หนังที่ ‘อ่อนไหว’ – “เซ็นซีถีบ” – กำลังเกิดขึ้นทั่วไปโดยที่เรามองไม่เห็น  ไม่เป็นทางการ  ไม่เป็นที่รับรู้  โดยคนที่ตั้งตัวเป็นตำรวจและผู้พิพากษาศิลปะวัฒนธรรมของเรา  และรัศมีอำนาจนี้กว้างไกลกว่าห้องพิจารณามืดๆ ของกรรมการเซ็นเซอร์

อสูรชาตินิยมไม่ได้สิงสู่เรา  หนังเหล่านี้สมควรได้รับการยกย่อง  และผู้กำกับเหล่านี้สมควรได้รับกำลังใจ  เพื่อที่เขาจะได้สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ต่อไปให้โลกของเราได้ร่ำรวยด้วยศิลปะ

อีกอย่างที่ไม่น่าแปลกใจ  คือการที่หนังสั้นทั้ง 3 เรื่องที่เคยได้รับรางวัลหนังพี้สั้นยอดเยี่ยม  ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์การถูกกดขี่ : ถูกบังคับให้จ่ายสินบนตำรวจ (‘3 หมื่นต่อออนซ์’);  ประวัติศาสตร์การค้าทาสในอาฟริกา (‘เฟซทูเฟซ’) และการกดขี่โดยนักล่าอาณานิคมสยาม (‘ผีมีบุญ’)

อย่าลืมว่ากัญชาชนเข้าใจดีว่าการกดขี่นั้นเป็นอย่างไร – การกดขี่ทางวัฒนธรรม  การบิดเบือนความจริงและภาพพจน์  การใส่ร้ายป้ายสีทั้งขบวนการ  ที่ทำให้พืชศักดิ์สิทธิ์ของพระศิวะต้องกลายเป็นยาเสพติดผิดกฎหมาย  ขณะเดียวกัน  นักทำหนังชาวไทยก็ไม่มีสิทธิมนุษยชนเต็มใบเฉกเช่นอาชีพอื่นๆ  ตราบใดที่ผลงานยังคงถูกสั่งห้ามฉาย  ดังนั้น กัญชาชนและนักทำหนังจึงเป็นเนื้อคู่ที่เหมาะสมในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ – เสรีภาพที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงของเรา  เสรีภาพทางจินตนาการณ์ ที่จะเล่าเรื่องที่เราอยากเล่าอย่างสุดฝีมือ  ด้วยความงดงามและสัจธรรม

ในโถงใต้โรงหนังช่วงเทศกาล  การฉายหนังกลางแปลงหลังตะวันตกดินดำเนินไปอย่างสบายอารมณ์ (โหมโรงเปิดเทศกาลโดยพี่เปี๊ยกเล็กฮิป  และการฉาย ‘ไออ้อนพุซซี่’ ฉบับดั้งเดิมโดยผู้กำกับหัวใจทรนง ไมเคิล เชาวนาศัย มาเอง) ท่ามกลางหมอน  เสื่อและเพิงแสนสุข

ขอให้เราจงเป็นอิสระเช่นนี้ต่อไป  อิสระที่จะเป็นตัวเราเอง  อิสระจากการหลบๆ ซ่อนๆ และความเงียบสงัด

ขอให้ภาพยนตร์จงเดินรอยตามกัญชา  ออกมาจากความมืดมนแห่งความเงียบที่ถูกบังคับให้เงียบ  ออกมาสู่แสงตะวัน  ไชโย

รักคือคำตอบทุกสิ่ง

(ดร.) อลิศกินเห็ด

ผู้จัดโปรแกรม

มหัศจรรย์หนังพี้ ที่ ซิเนม่า โอเอซิส