ปิด จันทร์ - อังคาร

อาลัย อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ

RIP_AJKRAISAK-FB Post
มูลนิธิซิเนม่าโอเอซิส
ขอร่วมแสดงความเสียใจและอาลัยแด่การจากไปของ
.

‘อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ’
.

กรรมการและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิแห่งนี้

เพื่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของภาพยนตร์

.
.

RIP_AJKRAISAK-WebBannerTH

……………………………………………………………………………………..

ทำหนังกับพี่โต้ง

เล่าโดย  อิ๋ง กาญจนะวณิชย์

 

 

เจอพี่โต้งครั้งแรก  ดิฉันยังเป็นวัยรุ่นเลย  ยังไม่ยี่สิบเลย  ติดร่างแหเข้าไปในบ้านแก – กับผู้จัดการวงคาราวาน  เสนีย์ ด้ายมงคล  ตอนนั้นพี่โต้งยังอยู่บ้านเล็กกลางน้ำ  และเป็นอาจารย์อยู่ที่เกษตรศาสตร์  พี่โต้งเลี้ยงข้าวเย็นคนที่เพิ่งทยอยออกจากป่า  หรือว่าแวะมา  คือพี่โต้งเป็นเหมือน safe house อันหนึ่ง  ซึ่ง safe มาก  เพราะบ้านตั้งอยู่ในกงสีอาณาบริเวณบ้านราชครูของพลเอก ชาติชาย

ตอนนั้นดิฉันเพิ่งจบมัธยมที่อังกฤษ  ก็จะถูกมองอย่างดูแคลนว่าเป็นนักเรียนนอก  เป็นศักดินาอะไรแบบนี้  เราเลยแอบหมั่นไส้ว่า  ดูคอมมิวนิสต์พวกนี้สิ  มีหนังสือคาร์ล มาร์กซ์บนชั้น  มีห้องน้ำหินอ่อนสีชมพู  มีโต๊ะแต่ไม่นั่ง  ปูเสื่อเปิบส้มตำกันกับพื้น  เปิดเพลงคาราวาน  ตกดึกท่านผู้หญิง บุญเรือน ก็แวะเวียนมาในชุดนอนฟูๆ  มาเซิ้งเพลง ‘คนกับควาย’ กับหนุ่มคอมมิวนิสต์ทั้งหลาย  ก็สนุกดี

แต่ทั้งที่หมั่นไส้ว่าแม่งโคตรเว่อเลย  ก็รู้สึกถูกชะตากับพี่โต้ง  และรู้จักตั้งแต่นั้น  รู้ว่าพี่โต้งทำหนังกับพี่คำรณ (คุณะดิรก) และคนอื่นๆ  และเคยมีหนังไปเทศกาลเดียวกับหนังพี่โต้งปีเดียวกัน  เช่นที่ฮาวาย  แต่ไม่ได้ทำหนังกับพี่โต้งจนครูจูหลิง (ปงกำมูล) ถูกทำร้าย  และพี่โต้งจัดงานแสดงศิลปะของครูจูหลิงเพื่อระดมทุนหาค่ารักษา  เราก็เลยตามพี่โต้งลงใต้ไปคุยกับพ่อแม่ครูจูหลิงที่หน้าห้องไอซียูโรงพยาบาลที่หาดใหญ่  และไปที่นราธิวาสเพื่อหาข้อเท็จจริงในฐานะวุฒิสมาชิกกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน  เพราะรู้สึกว่าเหตุการณ์ครูจูหลิงเป็นประตูดีที่สุดที่จะพาไปสู่เรื่องราวต่างๆ ในความไม่สงบชายแดนใต้  สำหรับคนดูทั่วไป

กล้องที่ใช้ก็เป็นของพี่โต้ง  มานิต (ศรีวานิชภูมิ) ถ่าย และดิฉันบันทึกเสียง  ไมโครโฟนที่ใช้มันจะค่อนข้างใหญ่  พี่โต้งก็โวยว่า เฮ้ยไอ้อิ๋ง  เอ็งใช้แบบนี้ไม่ได้นา  มันดูเหมือนปืน  เหมือนอาวุธสงคราม  เดี๋ยวจะเป็นเป้า  แต่เราก็ใช้เพราะมันจำเป็น  พี่โต้งก็ระมัดระวัง  ไม่ไปไหนกับทหาร-ตำรวจ  เพื่อไม่ให้เป็นเป้า

กองถ่ายคือเราสามคน  ครั้งนึงไปอยู่ที่โรงแรมดุสิตธานีนราธิวาส  ปรากฏว่าทั้งโรงแรมมีแค่เราสามคน  เพราะเป็นช่วงที่น่ากลัวสูงสุด  ในห้องน้ำพอเปิดก๊อกตอนแรก  มีน้ำโคลนไหลออกมา  ความที่ไม่มีใครไปอยู่ไปใช้  ผีหลอกมาก

การตัดสินใจใหญ่ที่สุดของผู้กำกับคือ casting – การเลือกตัวแสดง  ยิ่งเป็นสารคดี  ยิ่งสำคัญ  พี่โต้งเป็นตัวเอกที่ใช่เลยสำหรับการเดินทางสำรวจบาดแผลของแผ่นดิน  พี่โต้งไม่ใช่พระเอกแสนดีคนดีของสังคม  ไม่กินเหล้าไม่สูบบุหรี่อะไรพรรค์นั้น  แต่พี่โต้งเป็นคนดีของแท้  เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ  ความเป็นมิตร  อบอุ่น  และเปิดมาก  ใครๆก็รู้สึกว่าเข้ามาคุยกับแกได้  คนไว้ใจแก  ถ้าเราไปกันเองก็จะไม่มีใครกล้าคุยกับเรา  หรือไม่ก็ยิงทิ้งเลย  เราถึงให้เครดิตพี่โต้งเป็นผู้ร่วมกำกับ  เพราะถ้าไม่มีพี่โต้งก็ไม่มีหนัง

และก็มี surprise ให้ประหลาดใจต่างๆ  เช่น  ได้พบคนที่เคยพาพี่โต้งหนีตอนที่โดนไล่ล่าหลังรัฐประหารรัฐบาลนายกชาติชาย  หรือมีฉากที่พี่โต้งเมาสนุกกับเพื่อนที่เป็นอาข่า  และฟ้อนรำขณะที่คุยกันเรื่องการฆ่าตัดตอน  ถ้าเป็นคนอื่นก็คงไม่ยอมให้เราโชว์ภาพแกเมา  แต่พี่โต้งเข้าใจว่าทำไมฉากนี้มันทำให้หนังมีพลังมากขึ้น  สนุกขึ้น  เพราะแกเป็นนักทำหนัง  แกก็ยอมทั้งที่ไม่สบายใจเท่าไหร่  พี่โต้งเข้าใจจริงๆว่า ศิลปะยืนยาวและชีวิตสั้น  เมื่อเราตายไป  หนังที่เราทำยังอยู่  คนดูส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รู้จักเรา

พี่โต้งเชื่อมั่นในพลังเยียวยาสังคมของศิลปะ  ถ้าไม่มีพี่โต้งก็ไม่มีหอศิลป์ (กรุงเทพ) แห่งนี้ที่เรานั่งคุยกันอยู่  ตอนที่สมัคร สุนทรเวช จะเอาตรงนี้เป็นศูนย์การค้าและที่จอดรถ  ลูกสาวเล็กๆของพี่โต้งทั้งสองคนก็มาร่วมประท้วง sit-in ตรงนี้ด้วย  ไปล่าลายชื่อบนทางเดิน skywalk ได้มาเยอะแยะ

พี่โต้งทุ่มเทให้สังคมไทยมากมายเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิการแสดงออก  พี่โต้งสนใจความคิดเห็นของทุกฝ่ายเสมอ

หนึ่งอาทิตย์หลังปิดกล้อง ‘พลเมืองจูหลิง’ เกิดรัฐประหาร  เลยกลายเป็นว่าหนังของเราเป็นการบันทึกบรรยากาศช่วงสี่เดือนสุดท้ายใต้รัฐบาลทักษิณ – ทักษิณตรงๆ  ไม่ใช่นอมินีน้องเขยน้องสาวหรือสมัคร (สุนทรเวช)  เราก็ไปดูกัน  และถ่ายพี่โต้งเดินดูรถถัง  ดูคนเอาลูกมาถ่ายรูปกับรถถัง  เพราะพี่โต้งสนใจทุกสิ่งทุกอย่าง  และต้องการสัมผัสทุกปรากฏการณ์ด้วยตนเอง  แม้แต่เสื้อแดงชุมนุม  พี่โต้งก็ไปดู  แต่คนเสื้อแดงกลับขับไล่และทำร้ายแก  เพราะมีขบวนการใส่ร้ายป้ายสีพี่โต้งว่าต่อต้านประชาธิปไตย  เป็นอมาตย์ชั่วบ้าเจ้าอะไรต่างๆ

เดี๋ยวนี้ในยุค Facebook ทุกคนมี brand มียี่ห้อ – ไอ้คำว่า แบรนด์ นี่  แต่ก่อนหมายถึงการตีตราทาสหรือวัวควาย  แต่เดี๋ยวนี้หมายถึงหลุยส์ หวีตอง – ชาแนล – และทุกความคิดเห็นกลายเป็นเรื่องของรสนิยมและสถานภาพ  ไม่ต่างจากยี่ห้อกระเป๋า-รองเท้า  ถ้าเราไปปรากฏตัวที่ไหนก็แปลว่าสนับสนุน  ราวกับว่าทุกคนเป็นดาราขายสบู่  ทุกวันนี้ทุกคนก็เลยไม่ต้องไปไหนเลย

คนไทยตายเป็นพันๆในสงครามยาเสพติดและความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้  แต่ทำไมมีหนังเรื่องเดียวเกี่ยวกับสถานการณ์นี้โดยตรง?  ที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับเขาจริงๆ  ไม่ใช่แค่เอาโลเคชั่นกับประเด็นไปเป็นสีสันประดับ

อาจเป็นเพราะว่าไม่มีใครกล้าทำอีก  เพราะไม่อยากโดนใส่ร้ายป้ายสีเหมือนพี่โต้งและดิฉัน  ตอนที่เทศกาลภาพยนตร์โตรอนโตประกาศว่าจะฉาย ‘พลเมืองจูหลิง’  ภัณฑารักษ์เล่าว่ามีอีเมล์มาจากนักวิชาการขายตัว – เขาไม่ได้พูดว่าขายตัว  อันนี้ดิฉันพูดเอง  เพราะว่ามันเป็นนักวิชาการขายตัวจริงๆ  ถ้าคุณอยากจะฟ้องก็ฟ้อง  แต่ช่วยโชว์หน่อยว่าทุนต่างๆของคุณมาจากไหนบ้าง – นักวิชาการขายตัวเหล่านี้  เขียนเข้ามาล่าแม่มดว่าต้องถอดหนังเรื่องนี้ออกจากเทศกาล  เพราะเป็นหนังต่อต้านประชาธิปไตยของอมาตย์ชั่วบ้าเจ้า

นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการล่าแม่มดโดยนักวิชาการขายตัวให้แบล็คลิสท์ศิลปินคนนั้นคนนี้  แบบที่นาซีเคยทำกับสิ่งที่เขาเรียกว่า degenerate art หรือศิลปะเสื่อมทราม  ทุกวันนี้เรามาถึงตรงนี้จริงๆ

หลังจากพี่โต้งเป็นรายแรก  ก็มีศิลปินอื่นโดนกระทำข่าวปลอมใส่ร้ายป้ายสีแบบนี้อีกหลายคน  เช่น  สุธี คุณาวิชยานนท์  ซึ่งก็ได้ผล  เพราะน่าจะมีส่วนทำให้แม้กระทั่งที่หอศิลป์ (กรุงเทพ) นี้ก็ตัดอ.สุธี ออกไปจากการแสดงศิลปะร่วมสมัยยุคแรก  ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อ  แถมยังตั้งชื่องานแสดงว่า ‘RIFTS’ ที่แปลว่าแตกร้าว  ทำไมเอาการบ่อนทำลายมาให้เกียรติมันเป็นคำจำกัดความศิลปะไทยร่วมสมัย  มันไม่ใช่เลย

คุณอาจจะบอกว่า  ไม่เห็นเป็นไร  ถ้ามันไม่จริง  แต่มันทำลายชีวิตเราได้เลย  มันได้ผลเพราะทุกวันนี้คนไม่มองประวัติศาสตร์และการกระทำ  ไม่มอง track record ว่าเคยทำอะไรมาบ้าง  มองแต่แบรนด์ที่คนสร้างภาพให้ตัวเอง

พี่โต้งเคยพูดประโยคหนึ่ง  ซึ่งกินใจดิฉันมาก:

“ผมน่ะเกิดในท้องมาร”

ดิฉันเข้าใจน้ำหนักของประวัติศาสตร์  ดิฉันรู้สึกว่ามีหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์  เพราะมาจากครอบครัวที่ถูกกระทำและเป็นพยานประวัติศาสตร์ต้องห้าม  ในขณะที่ปู่ของพี่โต้งเป็นผู้กระทำ  เราจึงมีความเข้าใจบางอย่างที่ตรงกัน  ที่ผลักดันให้ทำสิ่งที่ต้องทำ

(ตรงนี้ต้องขอพูดให้นายกชาติชาย  พ่อพี่โต้งนิดนึง  ซึ่งดิฉันเคยต้องต่อสู้กับแกหลายเรื่อง  ต้องขอชมว่าท่านเป็นสุภาพบุรุษใจนักเลง  ท่านไม่เคยเล่นสกปรก  ไม่ชกใต้เข็มขัด  และเปิดรับฟังเหตุผลและข้อเท็จจริง  เช่น เรื่องเขื่อนน้ำโจนและนอร์ธภูเก็ตรีสอร์ทที่ท่าฉัตรไชย  ท่านก็ยอมถอย  เราสามารถถกเถียงน้าชาติได้และหักล้างกันด้วยเหตุผล  ไม่มีการใส่ร้ายป้ายสี)

พี่โต้งน่าจะเป็นคนเดียวที่ดิฉันเคยพบที่มาจากฝั่งผู้กระทำ  แต่ยอมรับข้อเท็จจริง  ไม่ปกป้องครอบครัวตัวเองจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์สงครามเย็นของสหรัฐอเมริกา

เมื่อไม่นานมานี้  พี่โต้งเคยถึงกับขอให้พาไปหาลูกหลานคุณตา ชิต สิงหเสนี  มหาดเล็กในหลวงรัชกาลที่ 8 ที่ถูกประหารชีวิตในกรณีสวรรคต  ซึ่งเป็นญาติของดิฉัน  “ผมอยากขอขมาเขา”  พี่โต้งบอก  ทั้งที่ตัวเองไม่เคยทำอะไรผิดสักอย่าง  แต่พี่โต้งก็รู้สึกผิด  เพราะว่าพี่โต้งสัมผัสได้ทุกบาดแผลของแผ่นดินที่พี่โต้งรัก

 

[พูดที่งาน ’72 ปี ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ’  ที่หอศิลปวัฒธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  วันที่ 16 สิงหาคม 2562]

……………………………………………………………………………………………………..

คลิปพูดคุยกับ อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ โดย อิ๋ง เค
https://www.youtube.com/watch?v=jWf0aw0fT0g

.
.
บรรยากาศการพูดคุยหนังเรื่อง ‘พลเมืองจูหลิง’ ณ ซิเนม่าโอเอซิส
https://youtu.be/sBwrbdd8ly4
.
.
ภาพยนตร์ ‘พลเมืองจูหลิง’ ผลงาน  อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ
https://vimeo.com/ondemand/citizenjuling